วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ความหมายของครอบครัว


พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 (2525: 167) ได้ให้ความหมายของครอบครัวไว้ว่า หมายถึง ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยาและบุตร เป็นต้น
ความหมายของครอบครัวในเชิงสหสาขาวิทยา
1) ในแง่ชีววิทยา  ครอบครัว หมายถึง กลุ่มคนที่เกี่ยวพันกันทางสายโลหิต เช่น สามี  ภรรยา มีบุตร บุตรเกิดจากอสุจิของบิดาผสมกับไข่สุกของมารดา  ฉะนั้น บิดามารดากับบุตรจึงเกี่ยวพันทางสายโลหิตแล้วแต่โครโมโซมและยีนที่บุตรได้รับมาจากทั้งบิดาและมารดา (ทวีรัสมิ์ ธนาคม, 2518)
2) ในแง่กฎหมาย  ชายหญิงจดทะเบียนสมรสกัน มีบุตร คนเหล่านี้เป็นครอบครัวเดียวกันตามกฎหมาย บุตรมีสิทธิ์ได้รับมรดกจากบิดามารดา ถ้าไม่มีบุตรผู้สืบสายโลหิตโดยตรงหรือจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรม  ก็นับว่าเป็นครอบครัวเดียวกันตามกฎหมาย
3) ในแง่สังคม  ครอบครัว หมายถึง กลุ่มที่รวมอยู่ในบ้านเดียวกัน อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวพันทางสายโลหิตหรือทางกฎหมายแต่มีปฏิสัมพันธ์กัน ให้ความรักและความเอาใจใส่ต่อกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน
4) ในแง่สังคมวิทยา  ครอบครัว คือ สถาบันพื้นฐานทางสังคมที่มีความสำคัญใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพสถาบันอื่น ๆ (ทวีรัสมิ์ ธนาคม, 2518)
สุพัตรา  สุภาพ (2540:26) ได้กล่าวว่า ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดของสังคม เป็นหน่วยย่อยของสังคมที่มีความสัมพันธ์และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เป็นสถาบันที่คงทนที่สุดและยังไม่เคยปรากฏว่า สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ไม่มีสถาบันครอบครัว  เพราะมนุษย์ทุกคนต้องอยู่ในสถาบันครอบครัว เนื่องจากเป็นกลุ่มสังคมกลุ่มแรก  ที่มนุษย์ทุกคนเจอ ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเติบโต และมีครอบครัวแยกออกมา  ครอบครัวจะให้ตำแหน่ง ชื่อ และสกุลซึ่งเป็นเครื่องบอกสถานภาพ บทบาทตลอดจนกำหนดสิทธิหน้าที่ที่สมาชิกมีต่อกันและต่อสังคม  ครอบครัวเป็นสถาบันแห่งแรกและแห่งสำคัญของสังคมในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน  ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานความประพฤติของครอบครัว
คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ(2537:15)  ได้กล่าวว่า  ครอบครัว หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความผูกพันกัน ทางอารมณ์และจิตใจมีการดำเนินชีวิตร่วมกัน รวมทั้งพึ่งพิงกันทางสังคมเศรษฐกิจ  มีความสัมพันธ์กันทางกฎหมายและทางสายโลหิต
สนิท สมัครการ (2538:1)  ให้ความหมายครอบครัวไว้ว่า  กลุ่มของญาติสนิทกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ร่วมหลังคาบ้านเดียวกัน  หรืออยู่ในบริเวณรั้วบ้านเดียวกัน  (ในกรณีที่มีบ้านมากกว่าหนึ่งหลัง)  ตามปกติแล้วครอบครัวย่อมทำหน้าที่เบื้องต้นที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการพื้นฐาน(Basic need) ของมนุษย์  อย่างไรก็ดีหน้าที่บางประการของครอบครัวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคมและวัฒนธรรม  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะความเป็นญาติของสมาชิกแต่ละครอบครัวทั้งแบบชีวภาพและแบบสังคมกำหนดก็ได้
ประสบ  บุญเดช (2531:1) ให้ความหมายครอบครัวว่า  เป็นหน่วยงานย่อยพื้นฐานของสังคมโดยปกติมักประกอบด้วย สามี  ภรรยา  และบุตร  ฐานะการเป็นครอบครัวเริ่มขึ้นเมื่อชายและหญิงได้ทำการสมรสกัน  และดำเนินต่อไปจนกระทั่งเกิดบุตรคนแรก คนที่สองและคนถัด ๆ ไป  ครอบครัวบางครอบครัวอาจไม่มีบุตรตลอดชีวิตของสามีภริยาก็ได้ และในทำนองเดียวกันครอบครัวบางครอบครัวก็มีเพียงบิดา  หรือมารดากับบุตรเท่านั้น  ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายหรือหย่าร้างเลิกรากันไป
Kingsley Davis (1966:392 อ้างถึงใน วรณาภรณ์ โภคภิรมย์, 2545:6) ให้ความหมายไว้ว่า ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานและสากลที่สุดสำหรับทุกสถาบัน มุ่งอธิบายครอบครัว 2 แนวทางด้วยกัน
1) แนวจิตวิทยา     มุ่งชี้ให้เห็นว่าครอบครัวเป็นกลุ่มปฐมภูมิ  เพราะเนื่องด้วยความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดของบรรดาสมาชิกของกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน  มีการพบปะและแสดงอาการตอบสนองต่อกันและกัน
2) แนวสังคมวิทยา  ถือว่าบรรดาสมาชิกในครอบครัวนั้นต่างฝ่ายต่างให้ และรับประสบการณ์จากกันและกัน ซึ่งถือว่าต่างฝ่ายต่างถ่ายทอดพฤติกรรมให้แก่กันและกัน อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม
จากความหมายทั้งหมดสรุปได้ว่า  ครอบครัวเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดในสังคม ประกอบด้วย กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือโดยการแต่งงาน  มีความผูกพันกันทางอารมณ์และจิตใจ  เป็นหน่วยย่อยของสังคมที่มีความคงทนที่สุด เป็นสถาบันที่สำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ และเป็นสถาบันที่จะสร้างสมาชิกใหม่ให้กับสังคม ในรูปของเด็กเกิดใหม่และอบรมให้เด็กเหล่านั้นเข้ากับสังคมได้

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น